ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง รับสมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ประจำปี 2567
- เขียนโดย webmaster
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง รับสมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ประจำปี 2567
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เรื่อง รับสมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ประจำปี 2567
........................................
ตามที่ กรมตรวจบัญชีได้จัดทำโครงการปรับปรุงระบบการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ขึ้นเพื่อกระจายงานด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ไปสู่ภาคเอกชน โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีทุนดำเนินงานตั้งแต่ 50ล้านบาทขึ้นไป จัดจ้างผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 22 ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ให้ประกาศรับสมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชนประจำปี 2567 ไว้ดังต่อไปนี้
- คุณสมบัติผู้สมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ประจำปี 2567 มีดังนี้
1.1 เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี ที่ใบอนุญาตยังไม่ขาดอายุ ไม่ถูกพัก ไม่ถูกเพิกถอน หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ. 2547 ที่มีใบอนุญาตยังไม่สิ้นผล หรือ เป็นผู้ชำนาญงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ตามประกาศอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
1.2 มีคุณวุฒิการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรีทางด้านบัญชี
1.3 ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด หรือเป็นผู้ชำนาญงานตรวจสอบบัญชี ซึ่งกรมตรวจบัญชีรับรองคุณสมบัติ
1.4 ไม่เป็นผู้ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พิจารณาว่าปฏิบัติผิดจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ โดยพิจารณาถึงที่สุดให้เพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนผู้สอบบัญชีภาคเอกชน
1.5 มีผู้ช่วยสอบบัญชีไม่น้อยกว่า 2 คน (พร้อมแนบรายชื่อ)
1.6 สามารถเข้าตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ในวันทำการของสหกรณ์
- วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร
เปิดรับสมัครตั้งแต่1 – 15 กันยายน 2566 ในวันทำการของสหกรณ์ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
- หลักฐานการสมัคร
3.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน
3.2 สำเนาคุณวุฒิการศึกษา
3.3 หนังสือเสนอบริการสอบบัญชี
ผู้ใดประสงค์จะสมัครเป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด ประจำปี 2567 สามารถยื่นเอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ณ สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2566
(นายมนตรี สะราคำ)
ประธานกรรมการ
สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานและคณะกรรมการดำเนินการ ปี 2567
- เขียนโดย webmaster
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานและคณะกรรมการดำเนินการ ปี 2567
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานและคณะกรรมการดำเนินการ ปี2567
........................................
เพื่อให้เป็นไป พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม, ฉบับที่2 พ.ศ. 25553 และฉบับที่3 พ.ศ.2562 รวมถึงข้อบังคับสหกรณ์ได้กำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็น หรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการสหกรณ์ และเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วย การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานและคณะกรรมการดำเนินการ พ.ศ.2567 จึงขอประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ดังนี้
- จำนวนที่จะสรรหา
1.1 ประธานคณะกรรมการดำเนินการ จำนวน 1 คน
1.2 กรรมการที่มีการสรรหา ได้แก่
- กลุ่มเดิมบาง - ปากน้ำ จำนวน 2 คน
- กลุ่มหัวนา - ป่าสะแก - บ่อกรุ - หนองกระทุ่ม จำนวน 1 คน
- กลุ่มนางบวช - ทุ่งคลี จำนวน 1 คน
- กลุ่มเขาพระ - หัวเขา จำนวน 1 คน
- วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร
ผู้สมัครรับการสรรหาเป็นประธานกรรมการและคณะกรรมการดำเนินการ จะต้องยื่นใบสมัครด้วยตัวเอง ในระหว่างวันที่ 1 - 15 กันยายน 2566 ในวันทำการของสหกรณ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สำนักงานสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
- คุณสมบัติของผู้สมัคร
3.1 ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
3.2 ผู้ซึ่งไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนฐานทุจริตต่อหน้าที่
3.3 ผู้ซึ่งไม่เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
3.4 ผู้ซึ่งไม่เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
3.5 ผู้ซึ่งไม่เคยเป็นสมาชิกซึ่งผิดนัดการชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย ในระยะเวลาสองปี่ทางบัญชีนับแต่ปีที่ผิดนัดถึงปีที่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เว้นแต่การผิดนัดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
3.6 ผู้ซึ่งไม่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์
- ค่าธรรมเนียมสมัคร
คนละ 100 บาท ค่าสมัครจะไม่คืนไม่ว่ากรณีใดๆ
- วิธีการสรรหา
โดยวิธีเลือกตั้ง
- หลักฐานการสมัคร
6.1 สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ จำนวน 1 ฉบับ
6.2 ค่าสมัครจำนวน 100 บาท
6.3 มีสมาชิกสามัญสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด รับรอง จำนวน 3 คน
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2566
(นายมนตรี สะราคำ)
ประธานกรรมการสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง นโบายและระเบียบวิธีการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
- เขียนโดย webmaster
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
ประกาศ
สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เรื่อง นโยบายและระเบียบวิธีการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและ
ปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
1. หลักการและวัตถุประสงค์
ตามมาตรา 3แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542กำหนดคำนิยามของ “สถาบันการเงิน” ให้มีความหมายถึง (5) สหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เฉพาะสหกรณ์ที่มีทุนดำเนินการซึ่งมีมูลค่าหุ้นรวมตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปและมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับฝากเงินให้กู้ ให้สินเชื่อ รับจำนองหรือรับจำนำทรัพย์สิน หรือจัดให้ได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ โดยวิธีใด ๆ ดังนั้น สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด จึงถือเป็นสถาบันการเงินตามนัยของมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
สหกรณ์ ฯ จะสนับสนุนและพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันมิให้สหกรณ์ ฯ ถูกใช้เป็นช่องทางหรือเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวทางปฏิบัติที่สำนักงาน ปปง. กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด สหกรณ์ ฯ จึงได้กำหนดให้มีนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงฉบับนี้ โดยผ่านการเห็นชอบและอนุมัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ฯ ชุดที่ 22 ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566ซึ่งถือว่านโยบายฉบับนี้เป็นนโยบายหลักขององค์กรและมีความสำคัญเทียบเท่ากับนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ดังนั้นผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด
2. คำจำกัดความ
“การฟอกเงิน”หมายความว่า การนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาอย่างถูกต้อง
“การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย”หมายความว่า บุคคลใดจัดหารวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ เพื่อการก่อการร้าย หรือโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้รับประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือจากการดำเนินการนั้น เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด หรือโดยเจตนาให้เงินหรือทรัพย์สิน หรือการดำเนินการนั้นถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของบุคคลที่ถูกกำหนดหรือของบุคคลคณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
“การสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง”หมายความว่า ผู้ใดจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ เพื่อการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ได้รับประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือจากการดำเนินการนั้น เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด หรือโดยเจตนาให้เงินหรือทรัพย์สินหรือการดำเนินการนั้นถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
“ธุรกรรม”หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใด ๆ กับผู้อื่นทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และให้รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์และรวมถึงการทำธุรกรรมที่ต่อเนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์และธุรกรรมที่กระทำครั้งหนึ่งครั้งใดของลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
“ลูกค้า”หมายความว่า บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทางธุรกรรมกับสหกรณ์ซึ่งสำหรับสหกรณ์ หมายถึง ลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
“ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ”หมายความว่า การทำธุรกรรมระหว่างลูกค้าฝ่ายหนึ่งกับสหกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บริการทางการเงิน ทางธุรกิจ ทางการค้า หรือทางวิชาชีพของสหกรณ์อย่างต่อเนื่องหรือในช่วงระยะเวลาที่ตกลงกัน
“ธุรกรรมเป็นครั้งคราว”หมายความว่า การทำธุรกรรมระหว่างลูกค้าฝ่ายหนึ่งกับสหกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บริการทางการเงิน ทางธุรกิจ ทางการค้า หรือทางวิชาชีพของสหกรณ์เป็นรายครั้งโดยไม่ได้มุ่งหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
“ลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ”หมายความว่า บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสหกรณ์ ซึ่งสำหรับสหกรณ์ หมายถึง สมาชิกของสหกรณ์ หรือนิติบุคคลอื่น เช่น สหกรณ์อื่น เป็นต้น
“ลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว”หมายถึง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมายที่มีการทางธุรกรรมกับสหกรณ์ เช่น บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสถานภาพความเป็นสมาชิกกับสหกรณ์ได้แก่ผู้รับผลประโยชน์กรณีสมาชิกถึงแก่กรรม หรือผู้ที่มาทำธุรกรรมแทนสมาชิกโดยไม่ได้มีการมอบฉันทะหรือมอบอำนาจอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น
“ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย”หมายความว่า ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542หรือเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งและให้หมายความรวมถึงการพยายามกระทำธุรกรรมด้วย
“บุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย”หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งซึ่งตกลงกันทางกฎหมายให้เป็นผู้ครอบครอง ใช้ จำหน่าย หรือบริหารจัดการทรัพย์สินไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เพื่อประโยชน์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง
“ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง”หมายความว่า บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือมีอำนาจควบคุมความสัมพันธ์ทางธุรกิจของลูกค้ากับสหกรณ์หรือบุคคลที่ลูกค้าทำธุรกรรมแทน รวมถึงบุคคลผู้ใช้อำนาจควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย
“บุคคลที่ถูกกำหนด”หมายความว่า บุคคลคณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนด ให้เป็นผู้มีการกระทำ อันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศรายชื่อนั้น หรือบุคคลคณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อที่ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559
“การจัดให้ลูกค้าแสดงตน”หมายความว่า การดำเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูลของลูกค้าและการดำเนินการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อมูลการแสดงตน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16
“การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า”หมายความว่า กระบวนการที่กำหนดขึ้น เมื่อเริ่มมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าหรือมีการทำธุรกรรมกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวที่มีการทำธุรกรรมถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยการระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตน ระบุผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงและติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินจากการทำธุรกรรมของลูกค้าว่ามีพฤติการณ์ผิดปกติมีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สหกรณ์ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
3. หน้าที่และความรับผิดชอบ
3.1ผู้บริหารสหกรณ์มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
3.1.1ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงโดยกำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ คำสั่งและวิธีปฏิบัติของสหกรณ์อย่างเคร่งครัด
3.1.2พิจารณาใช้ดุลพินิจและอนุมัติขั้นตอนการดำเนินงานทั้งในกรณีปกติและกรณีที่ต้องได้รับการกลั่นกรองเป็นพิเศษ ในขั้นตอนการรับลูกค้าการประเมินความเสี่ยงลูกค้า และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
3.1.3กำหนดมาตรการควบคุมและจัดการความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ช่องทางการทางธุรกรรม ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ของสหกรณ์
3.1.4กำหนดให้มีคำสั่งและคู่มือปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับนโยบาย ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ตามแนวปฏิบัติที่สำนักงาน ปปง. กำหนด
3.1.5กำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงาน ให้เป็นไปตามคำสั่ง ระเบียบและแนวปฏิบัติตามนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงโดยเคร่งครัด
3.1.6สนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง อย่างเพียงพอจนสามารถปฏิบัติงานในกระบวนการรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.1.7ในกรณีที่มีสาขา สหกรณ์กำหนดให้สาขาปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบวิธีการสำหรับการประเมินบริหารและบรรเทาความเสี่ยงภายในองค์กรของสหกรณ์และนโยบายและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายใน อย่างเคร่งครัด
3.2พนักงานทุกระดับมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
พนักงานทุกระดับ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบ และแนวปฏิบัติิที่สหกรณ์ ฯ กำหนดขึ้นภายใต้นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงโดยเคร่งครัด
4. สาระสำคัญของนโยบายและระเบียบวิธีการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกัน
และปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ประกอบด้วย
4.1นโยบายและระเบียบวิธีการในการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงภายในองค์กร
สหกรณ์ ฯ กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการ พร้อมทั้ง ดำเนินการประเมินความเสี่ยงภายในองค์กรของสหกรณ์ โดยนำปัจจัยความเสี่ยงเกี่ยวกับลูกค้าพื้นที่หรือประเทศผลิตภัณฑ์ หรือบริการธุรกรรมหรือช่องทางในการให้บริการมาประกอบการพิจารณาประเมินความเสี่ยง และนำผลการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวมากำหนดมาตรการและวิธีการในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผลการประเมินความเสี่ยงนั้น และนำผลการประเมินและบริหารความเสี่ยงตามรายงานการประเมินความเสี่ยงระดับชาติที่สำนักงาน ปปง. จัดทำมาพิจารณาประกอบด้วย โดยจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงภายในองค์กรอย่างน้อยปีละ1ครั้งและปรับปรุงผลการประเมินความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
4.2นโยบายและระเบียบวิธีการในการรับลูกค้า
สหกรณ์ ฯ มีการกำหนดกระบวนการเพื่ออนุมัติการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรม หรือปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้าโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดให้ลูกค้าแสดงตน การระบุตัวตนของลูกค้า และการพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้ากับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงสหกรณ์จัดให้มีแนวปฏิบัติเพื่อให้บุคลากรดำเนินการตามขั้นตอนการรับลูกค้า โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขอหรือแสวงหาข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าและการระบุตัวตนของลูกค้า การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า การพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าการหาผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า การตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และการอนุมัติหรือปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรม นับแต่เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์จากลูกค้า
4.3นโยบายและระเบียบวิธีการในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงของลูกค้า
สหกรณ์ ฯ มีการกำหนดหลักการบริหารความเสี่ยงสำหรับลูกค้าทั้งหมด โดยพิจารณาปัจจัยในการกำหนดความเสี่ยงไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดและจะดำเนินการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงตลอดระยะเวลาที่ดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าและสิ้นสุดลงเมื่อยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าโดยการบริหารความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินเพื่อระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าการกำหนดระดับความเสี่ยงสำหรับลูกค้าแต่ละราย การตรวจสอบความคลื่อนไหวในการทำธุรกรรมซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกค้า การตรวจทานข้อมูลการพิสูจน์ทราบลูกค้าซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกค้า การตรวจทานข้อมูลการพิสูจน์ทราบลูกค้าซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกค้าการทบทวนการประเมินความเสี่ยง จนถึงการยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าแต่ละรายและจะดำเนินการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้สหกรณ์ได้กำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงของลูกค้าในบริการทุกประเภทและในทุกช่องทางที่ให้บริการ
4.4นโยบายและระเบียบวิธีการในการประเมินความเสี่ยงสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ และช่องทางการ
ให้บริการ
4.4.1สหกรณ์จะต้องกำหนดนโยบายและระเบียบวิธีการในการประเมินความเสี่ยงสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ และช่องทางการบริการ โดยจะต้องดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และปัจจัยความเสี่ยงในการประเมินความเสี่ยงสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ และช่องทางการให้บริการ ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด
4.4.2กรณีที่สหกรณ์จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การให้บริการใหม่ รูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจ หรือช่องทางหรือกลไกใหม่ในการให้บริการ หรือนำเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนามาใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่เดิมและที่จะมีขึ้นใหม่สหกรณ์จะระบุและประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่อาจเกิดขึ้นให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินการดังกล่าว และจะกำหนดมาตรการในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงที่เหมาะสมและสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด
4.4.3สหกรณ์จะถือเอาผลการระบุและประเมินความเสี่ยงตามข้อ 4.4.2เป็นหนึ่งในปัจจัยการประเมินความเสี่ยงภายในองค์กรตามข้อ 4.1ด้วย
4.4.4กรณีที่สหกรณ์ไม่สามารถกำหนดมาตรการในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงที่เหมาะสมตามข้อ 4.4.2ได้สหกรณ์จะไม่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่การให้บริการใหม่ รูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจช่องทางหรือกลไกใหม่ในการให้บริการ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์และบริการ
4.5การรายงานการทำธุรกรรม
สหกรณ์ ฯ กำหนดแนวทางการรายงานการทำธุรกรรมตามประเภทของธุรกรรม วิธีการและขั้นตอนการรายงานการทำธุรกรรมให้ชัดเจน โดยให้เป็นไปตามแบบ ระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
4.6การควบคุมภายใน
สหกรณ์ ฯ กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภายในองค์กรและขนาดธุรกิจของสหกรณ์ ดังนี้
4.6.1สหกรณ์กำหนดโครงสร้างในการกำกับดูแล โดยให้มีส่วนงานหรือพนักงานผู้รับผิดชอบ และมีพนักงานระดับผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทั้งนี้สหกรณ์จะจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อดำเนินการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
4.6.2สหกรณ์กำหนดแนวทางขั้นตอนและวิธีการในการคัดเลือกพนักงานก่อนการว่าจ้างที่มีมาตรฐาน เพื่อคัดเลือกพนักงานที่จะมาปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยจัดให้มีขั้นตอนและวิธีการที่มีมาตรฐานในระดับสูงในการคัดเลือกบุคคล เช่น การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
4.6.3สหกรณ์ ฯ จัดให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติงานและอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานนั้น เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
4.6.4สหกรณ์กำหนดให้มีส่วนงานหรือพนักงานผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบภายในที่เป็นอิสระจากการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กรเพื่อตรวจสอบระบบการดำเนินงานและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และจัดให้มีรายงานผลการตรวจสอบภายในนั้นต่อพนักงานระดับผู้บริหารที่มีหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจทราบด้วย
4.7การเก็บรักษาข้อมูล
สหกรณ์กำหนดมาตรการเกี่ยวกับวิธีการขั้นตอน และรายละเอียดในการเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดให้ลูกค้าแสดงตน ข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรม และข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้หากสำนักงาน ปปง. ขอตรวจสอบข้อมูล สหกรณ์มีข้อมูลให้ตรวจสอบได้ และสามารถจัดส่งข้อมูลตามที่สำนักงาน ปปง. ร้องขอได้ตามกำหนดเวลา
4.8การร่วมใช้ข้อมูลระหว่างสหกรณ์กับสาขา
4.8.1สหกรณ์กำกับดูแลให้สำนักงานสาขาปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบวิธีการสำหรับการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงภายในองค์กรของสหกรณ์ และนโยบายและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในของสหกรณ์
4.8.2สหกรณ์กำหนดให้มีมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับการร่วมใช้ข้อมูลระหว่างสหกรณ์กับสาขา และกำหนดให้มีมาตรการในการรักษาความลับจากการร่วมใช้ข้อมูล และห้ามเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ อันอาจทำให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับการร่วมใช้ข้อมูลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เว้น แต่มีกฎหมายภายในประเทศหรือต่างประเทศกำหนดเกี่ยวกับการใช้การเปิดเผย หรือการร่วมใช้ข้อมูล ของลูกค้าไว้แล้วก็ให้ ถือปฏิบัติตามนั้น
5. สาระสำคัญของนโยบายในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่
การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
สหกรณ์ ฯ กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้น
5.1สหกรณ์มีมาตรการเกี่ยวกับขั้นตอนในการอนุมัติรับลูกค้าหรืออนุมัติสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าอย่างเคร่งครัด และมาตรการเกี่ยวกับขั้นตอนในการรับทำธุรกรรมกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวรวมถึงปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ในเรื่องการรับลูกค้า
5.2สหกรณ์มีมาตรการในการดำเนินการให้ข้อมูลรายชื่อของบุคคลที่ถูกกำหนดเป็นปัจจุบันอยู่เสมอโดยตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. ทุกวัน หรือตรวจสอบจากระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด (AMLO Person ScreeningSystem: APS) และนำรายชื่อของบุคคลที่ถูกกำหนดดังกล่าวมาปรับปรุงในฐานข้อมูลของลูกค้าเพื่อทำการตรวจสอบลูกค้าต่อไป
5.3สหกรณ์มีมาตรการในการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดกับลูกค้าโดยตรวจสอบกับข้อมูลลูกค้าของสหกรณ์ทุกครั้งก่อนอนุมัติสร้างความสัมพันธ์รับเป็นลูกค้าและตรวจสอบข้อมูลลูกค้าทั้งหมดของสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงตรวจสอบรายชื่อลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวทุกครั้งก่อนรับทำธุรกรรม
5.4เมื่อสหกรณ์ตรวจสอบพบว่าลูกค้าที่ประสงค์จะสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สหกรณ์ทำการปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ปฏิเสธการทำธุรกรรม หรือยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
5.5ในกรณีที่สหกรณ์พบว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือเป็นธุรกรรมที่กระทำกับหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลที่ถูกกำหนด สหกรณ์จะทำการรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง. ตามแบบรายงานการทำธุรกรรม ระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
5.6สหกรณ์กำหนดมาตรการในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือการทำธุรกรรมและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการทำธุรกรรมของลูกค้า ตลอดระยะเวลาที่ยังดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจจนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้าดังกล่าว
5.7หากพบว่าลูกค้าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด สหกรณ์จะต้องดำเนินการ ดังนี้
5.7.1ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด รวมทั้งของผู้กระทำการแทน หรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การครอบครองหรือการควบคุมของผู้นั้น และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ ตามแบบ ปกร 03ภายใน 10วันทำการนับแต่วันที่ได้ระงับการดำเนินการกับ ทรัพย์สินนั้น ไปยังสำนักงาน ปปง
5.7.2ดำเนินการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้า ซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดหรือผู้ที่มีหรือเคยมีการทำธุรกรรมกับผู้นั้น ตามแบบ ปกร 04ภายใน 10วันทำการนับแต่วันที่พบข้อมูลนั้นทั้งนี้ต้องตรวจสอบย้อนหลังไม่เกินสองปีก่อนวันที่มีประกาศหรือมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด
5.7.3การแจ้งข้อมูลตามแบบ ปกร 03หรือแบบ ปกร 04ไปยังสำนักงาน ปปง. ดำเนินการด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(1) ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(2) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
(3) ส่งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
5.8สหกรณ์กำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบลูกค้าที่มีสัญชาติ ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ปัจจุบัน ในพื้นที่หรือประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและกำหนดมาตรการบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทำธุรกรรมกับลูกค้าทั้งหมดอย่างเคร่งครัด
5.9สหกรณ์กำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะได้จดทำ หรือพัฒนาขึ้นใหม่หรือให้บริการในอนาคตจะไม่ถูกใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและหากเกิดดังกล่าวขึ้นผู้มีหน้าที่รายงานต้องกำหนดมาตรการที่จะทำให้ตรวจพบได้อย่างรวดเร็วและกำหนดมาตรการในการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายให้ได้มากที่สุด
5.10สหกรณ์กำหนดมาตรการบรรเทาความเสี่ยงด้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เป็นช่องทางบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีลักษณะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้มีหน้าที่รายงานใช้เพื่อเชื่อมโยง ติดต่อ เข้าถึง การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือการดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้า
5.11สหกรณ์จะกำหนดปัจจัยความเสี่ยงอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไว้ในแนวปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และคู่มือปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
6. การพัฒนาและปรับปรุงนโยบายและระเบียบวิธีการ
สหกรณ์กำหนดแผนในการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายและระเบียบวิธีการ รวมถึงแนวปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และคู่มือปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ต้องได้รับการทบทวนเป็นระยะและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอโดยดำเนินการทบทวนนโยบายและระเบียบวิธีการ รวมถึงแนวปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และคู่มือปฏิบัติ ว่ายังสอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่หรือไม่อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง หรือดำเนินการทันทีเมื่อสหกรณ์ทราบว่ากฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของทางราชการมีการเปลี่ยนแปลง
นโยบายและระเบียบวิธีการข้างต้นให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29มีนาคม พ.ศ. 2566
(นายมนตรี สะระคำ)
ประธานกรรมการ
สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง รายชื่อผู้ได้รับทุนการศึกษาบุตรสมาชิก ประจำปี 2566
- เขียนโดย webmaster
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เรื่อง รายชื่อผู้ได้รับทุนการศึกษาบุตรสมาชิก ประจำปี 2566
อาศัยอำนาจตามความในระเบียบสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด ว่าด้วยทุนสวัสดิการสมาชิก พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2560,ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561, ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2564 หมวดที่ 2และที่ประชุมกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 22 ครั้งที่6 วันที่ 29 มีนาคม 2566 บัดนี้ ผลการคัดเลือกและพิจารณาทุน เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วจึงประกาศรายชื่อของผู้มีสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษาบุตรสมาชิกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบว่าด้วยทุนสวัสดิการสมาชิก พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2560, ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561, ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2564 หมวดที่ 2จำนวน 74 ทุน จัดเป็นทุนละ 1,200 บาทตามรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้ สหกรณ์จะเริ่มมอบทุนการศึกษาบุตรสมาชิกตั้งแต่ วันที่ 1เมษายน 2566 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566
(นายมนตรี สะราคำ)
ประธานคณะกรรมการ
สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง การขอรับสวัสดิการส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ ประจำปี2566
- เขียนโดย webmaster
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เรื่อง การขอรับสวัสดิการส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ
ด้วยสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด มีความประสงค์จะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นบุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ ตามระเบียบว่าด้วยทุนสวัสดิการสมาชิก พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2560, ฉบับที่ 3 พ.ศ.2561, ฉบับที่ 4 พ.ศ.2564 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จึงได้กำหนดให้ทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ ประจำปีบัญชี 2566 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ข้อ 1. คุณสมบัติของสมาชิกผู้รับสวัสดิการ และหลักเกณฑ์การพิจารณา
- เป็นสมาชิกสามัญ / สมาชิกสมทบ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันที่ยื่นขอรับสวัสดิการ และยังคงสภาพเป็นสมาชิกสามัญ / สมาชิกสมทบในวันที่รับทุน
- เป็นสมาชิกที่ส่งเงินค่าหุ้นรายเดือน อย่างน้อยเดือนละ 200 บาท (สองร้อยบาทถ้วน) เป็นประจำทุกเดือนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา หรือเป็นสมาชิกที่ส่งเงินค่าหุ้นรายปีในรอบปีที่ผ่านมา
- สำหรับสมาชิกที่งดส่งหุ้นรายเดือน / รายปี จะต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) และต้องไม่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการถือหุ้นในสหกรณ์
- สมาชิกที่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ จะต้องชำระค่าหุ้น เงินต้น และดอกเบี้ย ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเป็นประจำทุกเดือน
- เป็นสมาชิกที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสมาชิกปีละ 365 บาท เป็นประจำทุกปีภายในเวลาที่กำหนดตามประกาศของคณะกรรมการดำเนินการ
- ต้องเป็นบุตรสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาถึงระดับไม่เกินปริญญาตรีภาคปกติและอายุไม่เกิน 25 ปี ในสถานศึกษาของทางราชการ หรือของเอกชนที่ทางราชการรับรอง
- ต้องเป็นผู้ไม่เคยได้รับทุนการศึกษาจากสหกรณ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
- ทุนการศึกษา จัดเป็นทุนละ 1,200 บาท จำนวน 100 ทุน
- การคัดเลือกและพิจารณาทุน จะพิจารณาให้ทุนโดยวิธีการจับฉลาก จากผู้ที่ยื่นใบสมัครขอรับทุน ที่มีคุณสมบัติถูกต้อง
- สหกรณ์จะจ่ายเงินทุนในนามสมาชิกผู้ได้รับทุนเท่านั้น
ข้อ 2. สมาชิกผู้ขอรับทุนสวัสดิการจะต้องยื่นใบสมัครขอรับทุนตามแบบของสหกรณ์ ภายในเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ในวันและเวลาทำการ พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้
- ใบสมัครขอรับทุนตามแบบที่สหกรณ์กำหนด
- สำเนาบัตรประชาชนสมาชิกสามัญ / สมาชิกสมทบ จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรสมาชิกสามัญ / สมาชิกสมทบ จำนวน 1 ฉบับ
- หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นนักเรียน / นักศึกษา จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาหนังสือการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม จำนวน 1 ฉบับ (ถ้ามี)
ข้อ 3. ให้สมาชิกไปติดต่อขอรับเงินทุนสวัสดิการ ณ สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการ หากไม่ติดต่อขอรับเงินทุนภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นสละสิทธิ์ในการรับทุนเว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ชี้แจงต่อคณะกรรมการดำเนินการโดยยื่นผ่านหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง มติของคณะกรรมการดำเนินการให้ถือเป็นที่สิ้นสุด
ข้อ 4. สมาชิกผู้ใดที่จงใจให้ข้อมูล / ยื่นหลักฐานขอรับทุนเป็นเท็จ หากสหกรณ์ฯ ตรวจสอบพบจะเรียกเงินคืนและตัดสิทธิ์ในการขอรับทุนตลอดไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2565
![]() |
นายมนตรี สะราคำ
ประธานกรรมการดำเนินการ
สหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด
เนื้อหาอื่นๆ...
- ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตรจำกัด เรื่อง การขอรับสวัสดิการส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก และสมาชิกสมทบ
- ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง การรับสมัครสมาชิกใหม่ ประจำปี2566
- ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง รับสมัครผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ประจำปี 2565
- ประกาศสหกรณ์กลุ่มรวมมิตร จำกัด เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานและคณะกรรมการดำเนินการ ปี 2565